โค้ชอ้อม: ปลดล็อกปมในใจสู่ชีวิตใหม่ของการเป็นผู้ให้

จากผู้รับสู่การเป็นผู้ให้อย่างเป็นสุขและรอบด้าน

ก่อนจะเป็น โค้ชอ้อม – ทัศนีย์ จารุสมบัติ ในวันนี้ ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากศาสตร์แห่งการโค้ชจนปัญหาและความรู้สึกด้านร้ายที่มีอยู่ในใจถูกปลดล็อก ศาสตร์การโค้ชเปลี่ยนวิธีคิดและการรับมือกับปัญหารวมถึงทำให้เธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวมากขึ้น ทั้งหมดนั้นทำให้เธอตัดสินใจเดินเข้ามาในเส้นทางนี้ ต้องการนำศาสตร์การโค้ชมาช่วยเหลือผู้คนเหมือนกับที่เธอเคยได้รับมา

.

หากถามว่า ศาสตร์แห่งการโค้ช คืออะไร โค้ชอ้อมอธิบายว่า ‘ศาสตร์แห่งการโค้ชเป็นเพียงเครื่องมือช่วยเหลือคน’ โค้ชคือผู้มีทักษะและความเชื่อว่า คนทุกคนล้วนมีศักยภาพที่ดีงามอยู่ในใจ เพียงแต่ยังไม่อาจปลดปมปัญหาหรืออุปสรรคในใจ โค้ชคือผู้ช่วยดึงสิ่งที่ดีที่สุด เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของพวกเขาออกมา เป็นกระจกสะท้อนความคิดด้วยการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนบทสนทนาจนคนผู้นั้นเกิดการตกตะกอน นำมาสู่ความมั่นใจและภาคภูมิใจตัวเองและออกดอกออกผลเป็นสิ่งที่ดีงามให้กับสังคมนั้นๆ ต่อไป

เธอเน้นย้ำกับเราว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของทุกคนนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือพวกเขาเอง โค้ชอย่างเธอมีหน้าที่เพียงนำศาสตร์เหล่านั้นมาช่วยเป็นเหมือนไฟฉายชี้ส่องนำทางเท่านั้น ทั้งยังถือเป็นเป้าประสงค์และภารกิจหลักที่สำคัญของเธอและองค์กร

นอกจากนี้โค้ชอ้อมยังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของกิจกรรมโค้ชจิตอาสาและ ‘Happy Life Happy Thailand การโค้ชเพื่อความสุขของคนไทย’ โดยส่งต่อองค์ความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตผ่านกระบวนการโค้ชให้กับกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสและเข้าไม่ถึงศาสตร์ดังกล่าว เช่น นักโทษในเรือนจำ ครู ทหารและนักเรียน เพื่อให้พวกเขาเกิดสมดุลในชีวิต กลายเป็นความสุขแก่ตัวเองและส่งต่อให้กับผู้คนในสังคมที่ตนอาศัยอยู่ต่อไป

.

อย่างไรก็ดี สิ่งที่โค้ชอ้อมทำไม่เพียงส่งต่อคุณค่าให้กับผู้อื่นเพียงฝ่ายเดียวผลที่ได้รับยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ตัวเองผ่านกระบวนการทำงานและกิจกรรมเหล่านั้น กล่าวคือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้รับและผู้ให้ นำมาสู่การใคร่ครวญสำรวจและสะท้อนกลับกับตัวเองและเติบโตอย่างสวยงามราวกับผีเสื้อ

“เหมือนเราหลุดออกจากดักแด้มาเป็นผีเสื้อ เป็นผีเสื้อที่บินสูง บินสวย หน้าที่ของเราต่อจากนั้นคือผสมเกสร เราได้ผลิตคน ปั้นคนออกไปช่วยคนอื่น ทำให้เรามีโอกาสได้ช่วยคนในมุมต่างๆ อย่างรอบด้าน” โค้ชอ้อมกล่าวด้วยความมุ่งมั่นก่อนเริ่มต้นบทสนทนาต่อจากนี้

 .

กว่าจะเป็นโค้ชอ้อม

เธอย้อนเวลาเล่าให้เราฟังว่าก่อนเข้าสู่เส้นทางการเป็น ‘โค้ชอ้อม’ อย่างทุกวันนี้ มีสองเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกผันชีวิต

 

ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากลาออกงานประจำที่ทำมานานกว่า 25 ปี เนื่องจากปัญหาสุขภาพและตั้งใจกลับมาเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวและปฏิบัติธรรม แต่ทำได้ไม่นานเธอกลับรู้สึกว่าคุณค่าการเป็นผู้หญิงทำงานลดลง

ช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มทำความรู้จักกับ ‘ศาสตร์แห่งการโค้ช’ คือความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตนเองที่ยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างสมบูรณ์และเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้สามารถก้าวข้ามกำแพงอุปสรรคต่างๆ ภายในใจ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเข้าถึง เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนในตัวเองนำมาสู่แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงจากภายใน ส่งต่อให้กับคนรอบตัว ราวกับหมุนเวียนเป็นวงจร วัฏจักรนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกภายนอกตามมา

นี่คือสิ่งที่ทัศนีย์กล่าวกับเราว่า ‘ใช่เลย’ คือสิ่งที่เธอ ‘ตามหา’ มาตลอดตั้งแต่ยังเด็ก

จากนั้น เธอใช้เวลากว่า 4 ปีศึกษาศาสตร์ดังกล่าวจนลงลึกอย่างถ่องแท้จากสถาบันสอนทักษะการโค้ชแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา International Coach Academy (ICA) จนกระทั่งปี 2552 ทัศนีย์ก็พร้อมส่งออกความรู้และมอบต่อคุณค่าดังกล่าวให้กับผู้คน

 

ครั้งที่สองที่ทำให้เธอเหมือนเกิดใหม่และก้าวเดินอย่างสง่างามเช่นทุกวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เธอได้ปลดล็อกปมในใจตัวเองหรือที่เธอเปรียบเหตุการณ์นั้นว่า ‘ผ่าทำคลอดตัวเอง’

 

“เรามองตัวเองไม่ดีมาตลอดตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งกดและว่าตัวเองตลอด เราอ้วน เราดำ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย แต่วันที่พี่จิมมี่โค้ชให้เรา (โค้ชจิมมี่ – พจนารถ ซีบังเกิด ผู้ก่อตั้งบริษัท Jimi the Coach และสถาบันฝึกทักษะการโค้ช Thailand Coaching Academy) เหมือนว่าเราได้เกิดใหม่อีกครั้ง ได้ผ่าตัดทำคลองตัวเอง กลับไปย้อนดูตัวเอง ได้กลับไปทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเราและครอบครัว สานต่อรอยร้าว เหมือนเราได้เป็นคนใหม่และได้ครอบครัวคืนกลับมาอีกครั้ง”

 

โค้ชอ้อมไม่หยุดเพียงเท่านั้น เธอยังกลับไปคว้าปริญญาโทใบที่สองที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปะศาสตร์ สาขาจิตตปัญญาศึกษาและฝึกฝนทักษะ Neuro Linguistic Programming (NLP) และ Life Coaching Skills จนสำเร็จและได้รับรองตามมาตรฐาน International Coach Federation (ICF) ในระดับ Associate Certified Coach จนเป็นโค้ชอ้อมอย่างเช่นทุกวันนี้

.

จากผู้รับสู่การเป็นผู้ให้อย่างรอบด้าน

หากถามว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้โค้ชอ้อมหันมาเป็นผู้ให้ผ่านการทำกิจกรรม ‘โค้ชจิตอาสา’ ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เดินทางมอบคุณค่าและองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดทักษะชีวิตให้กับผู้คนในวงกว้าง เช่น ทหาร ตำรวจ ครู นักเรียนหรือนักโทษในเรือนจำตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี

โค้ชอ้อมนิ่งคิดสักพักก่อนจะตอบว่า อาจเพราะเธอได้รับอิทธิพลดังกล่าวมาจากคุณตาโดยไม่รู้ตัว

“คุณตาเป็นหมอกลางบ้าน (หมอภูมิปัญญา) เราจะเห็นคุณตาช่วยเหลือคนมาตลอดตั้งแต่เด็ก ลองมานั่งนึก ใจเราเองก็อยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่เด็ก ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนสายนี้ แต่ได้ทุนให้ไปเรียนบรรณารักษ์เสียก่อนจึงเลือกเรียนบรรณารักษ์ พอมาทำงานประจำก็ทำงานสายพัฒนาคน ตอนที่เรียนหลักสูตรจิตตปัญญาก็คิดว่า ‘ใช่’ อีก โค้ชเองก็เป็นงานช่วยเหลือคน ทั้งหมดพอจะเห็นภาพกว้างว่านี่เป็นสิ่งที่เราอยากเรียน อยากเป็นตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่มีโอกาส ความฝันนี้ก็ยังคงเรียกเราหรือ calling เรามาเรื่อยๆ จนในที่สุดเราได้ทำตามฝันสำเร็จ”

 

แต่การเป็นผู้ให้ทั้งในเชิงธุรกิจที่ได้รับผลตอบแทนกับการเป็นผู้ให้ในงานจิตอาสาแตกต่างกันอย่างไร โค้ชอ้อมอธิบายอย่างชัดเจนพร้อมยกตัวอย่างให้เราฟังว่า

“สอนโค้ชชิ่งได้เงินเป็นค่าตอบแทนจริงแต่หน้าที่ของเราไม่ต่างอะไรกับครูคือได้สร้างและพัฒนาคนทั้งยังสามารถทำให้เขาต่อยอด สร้างอาชีพให้ตัวเองได้ ศาสตร์แห่งการโค้ชเป็นเพียงเป็นเครื่องมือช่วยเหลือคน”

 

เรียกได้ว่าเธอทำหน้าที่เป็นเพียงไกด์นำทางให้พวกเขาเดินทางไปสู่เป้าที่เขาต้องการด้วยตนเอง ชวนคุย ตั้งคำถาม จนฉุกคิดจนตระหนักรู้ด้วยตนเอง กล่าวคือทำให้พวกเขาเข้าใจมนุษย์ เข้าใจชีวิต จนกลายเป็นทักษะติดตัว สร้างแนวคิดต่อชีวิตตัวเองรวมถึงสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันใหม่เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าแต่ละคนที่มีพฤติกรรมหรือชอบแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ลึกๆ แล้วอะไรเป็นปัจจัยหรืออิทธิพลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็นอยู่ในทุกวันนี้ เมื่อมีความเข้าใจข้างต้น พวกเขาจะเข้าใจศักยภาพที่ดีภายในตัวเองเพิ่มขึ้น

 

ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของโค้ชในการดึงสารเหล่านั้นออกมาคลี่ให้พวกเขาสำรวจภายในตัวเอง

“โค้ชมีหน้าที่ดึงศักยภาพ ดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างในของคนที่ถูกโค้ชออกมา ให้พวกเขาได้เห็น ให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าที่เขาเห็นและเป็นอยู่เกิดขึ้นเพราะอะไร และทำไมผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นเช่นนี้ หากอยากเริ่มต้นใหม่ ก้าวเดินใหม่ เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ พวกเขาก็ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เราเพียงชวนเขาคิดว่าต้องทำอย่างไร ทุกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากตัวเขาเอง เราไม่ได้ทำอะไร เสมือนช่วยหาแว่นตาใหม่มาให้เขาสวม มองตนเอง มองโลกรอบตัวมากขึ้นจนเกิดมุมมองต่อการใช้ชีวิตใหม่”

 

การเข้าไปทำกิจกรรมโค้ชจิตอาสาในเรือนจำ สิ่งที่เธอช่วยเหลือคนเหล่านั้นที่พื้นฐานมักมีความร้อนรุ่มในใจคือ การช่วยส่องไฟฉายไปยังสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ยอมรับและอยู่กับปัจจุบันให้ได้ด้วยใจที่สงบและพึงสุข

 

“เราไม่ได้ไปช่วยให้เขาออกจากคุกอย่างไร แต่เราช่วยให้เขามีความสุขกับปัจจุบันเพราะคนส่วนใหญ่เวลาอยู่ที่นั้นใจจะร้อนรนอยู่ตลอดเวลา เมื่อไรพ่อแม่จะมาเยี่ยม สามีมีเมียน้อยหรือเปล่า แต่ถ้าเราทำให้เขารู้ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมันผ่านไปหมดแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ดังนั้นเขาต้องเลือกที่จะอยู่กับวันนี้ให้ได้ หากอีกสามปีหรือห้าปีข้างหน้าที่พ้นโทษ เขาค่อยตัดสินใจว่าวันนั้นเขาจะทำอะไร แต่ระหว่างสามปีหรือห้าปีที่อยู่ที่นี่ต้องอย่าทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือนตกนรก”

 

 

ผลตอบแทนที่ชื่อว่ามูลค่าทางใจ

ทุกวันนี้ แม้โค้ชอ้อมจะเป็นผู้ให้ทั้งสองทางแต่เธอกลับบอกว่าเธอรู้สึกอิ่มเอมใจกับการทำงานจิตอาสามากกว่าเพราะเป็นการให้แบบที่เราและผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างมาด้วยใจ ทั้งยังทำให้เธอหลุดไปตามคนที่เธอโค้ช ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อเพื่อน พ่อแม่และครอบครัว

ทุกวันนี้ แม้โค้ชอ้อมจะบอกเล่าว่างานประจำและกิจกรรมจิตอาสาเป็น ‘การสร้างคน ผลิตคนมาเพื่อช่วยคน’ แต่หากถามว่าเธอชอบแบบไหนมากกว่า โค้ชอ้อมตอบทันทีว่า เธอรู้สึกอิ่มเอมใจกับการทำงานจิตอาสาเพราะเป็นการให้แบบที่โค้ชและผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างมาด้วยใจ ทั้งยังทำให้เธอหลุดไปตามคนที่เธอโค้ช ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อเพื่อน พ่อแม่และครอบครัว

โค้ชอ้อมเล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอยังประทับใจจนทุกวันนี้ เมื่อครั้งได้มีโอกาสไปสอนนักโทษหญิงในเรือนจำแห่งหนึ่งที่ส่วนใหญ่ต้องโทษค้ายาเสพติดและพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้และสิ่งที่เธอได้รับกลับมากคือ ความรู้สึกหัวใจฟูฟ่องที่ได้ช่วยเหลือใครสักคน

 

“ครั้งหนึ่งเราไปทำโค้ชจิตอาสาของโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีโอกาสได้ไปสอนน้องผู้หญิงที่ถูกโทษคุมขัง บางคนพูดภาษาไทยไม่ได้เลยแต่เรากลับมองว่าไม่ใช่ปัญหาแค่ปรับรูปแบบกิจกรรมให้ง่ายขึ้นจนสื่อสารกันได้รู้เรื่อง

“เรามีโอกาสได้กลับไปสอนอีกครั้ง น้องๆ เขาจะเรียกเราว่าแม่ เขาพูดกับเราว่า ‘แม่หนูอยากซื้อคุกกี้ให้แม่’ คือที่เรือนจำจะมีกิจกรรมให้นักโทษทำคุกกี้ขายและการที่เขาจะซื้อคุกกี้มาให้เราได้ เขาต้องปักผ้า ร้อยพวงมาลัย คือพวกเขาต้องทำอะไรบ้างอย่างเพื่อให้ได้เงินมาซื้อคุกกี้เพื่อเรา ‘หนูมีปัญญาหาให้แม่ได้เท่านี้’

“วันนั้นเรารู้เลยว่า สิ่งที่เราได้คือความสัมพันธ์ พลังและกำลังใจที่เงินไม่สามารถซื้อได้ เราได้เห็นความใจใหญ่ของพวกเขา หัวใจที่ไม่เคยถูกจำจอง ยิ่งกว่านั้นพลังที่เขาส่งมาให้เรายังเยอะกว่าพลังที่เราไปให้ส่งเขาอีก แถมเรายังได้พลังกลับมาเติมใจตัวเองอีก มาทำงานของเราใช้ชีวิตของเราต่อด้วย”

 

นอกเหนือจากการได้รับพลังใจที่ทำหน้าที่เป็นการชาร์ตแบตแล้ว โค้ชอ้อมบอกว่าตลอดเส้นทางการทำจิตอาสาที่ผ่านมา เธอได้รับประสบการณ์เชิงบวกมากมายที่ส่งผลให้เธอได้เรียนรู้ เติบโตและเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรอบด้านไปในทางที่ดีและเหมาะสมกับตัวเอง ขยายกว้างไปยังสังคมที่เธออาศัยอยู่ซึ่งถือเป็นปณิธานเดียวกับโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดินโดยธนาคารจิตอาสา

แม้เรื่องความสุขทางใจจะเป็นนามธรรม แต่หากต้องมีตัวประเมินชี้วัด เธอกล่าวว่าคือความสุขทั่วไป ความสุขง่ายๆ ที่เธอไม่สามารถหาได้สมัยทำงานประจำ

 

“สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคือ ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น คือความสุขง่ายๆ สมัยที่เราทำงานประจำเราไม่รู้สึกมีความสุขขนาดนี้ มีช่องว่างเยอะในครอบครัวทั้งกับสามีและลูก รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นมากขึ้น ไม่ขี้งอน ขี้เหวี่ยง ฟังสามีและลูกมากขึ้น สำหรับผู้หญิงอายุ 58 คนหนึ่ง มีครอบครัวดี มีเวลาพัก แค่นี้ก็พอแล้ว” โค้ชอ้อมกล่าวทิ้งท้ายอย่างเรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความพึงพอใจในชีวิต


ขอขอบคุณโครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน

Website https://palangpandin.com/education/view/5cad9f6b5dc4c1785ae99c77

ขอบคุณ Thailand Coaching Academy