การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นเทคนิคในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบ เป็นการบริหารจัดการเชิงป้องกัน (Pro-active) และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้องค์กร ทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น เตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้าไม่ว่าจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะกระทบกับคนกลุ่มน้อย หรือทั้งองค์กร นอกจากนั้นเป็นการประกันว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามทิศทางที่องค์กรต้องการ ก่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพแก่องค์กร เทคนิคในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ มีการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามปรัชญา ความเชื่อ แนวคิด วัฒนธรรมองค์กร สไตล์การบริหารงาน และความพร้อมของแต่ละองค์กร
กลยุทธ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
การฝึกอบรม
การฝึกอบรมพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้ความรู้ ให้ยอมรับและปรับตัว ตลอดจนเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในองค์กรว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือนำไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ในอนาคต การฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงขึ้น
ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เช่น
หลักสูตร: Self-mastering Change
หลักสูตรพื้นฐานสำหรับพนักงาน
- เพื่อสร้างทัศนคติในเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง
- เพื่อให้พนักงานเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงต่างๆในองค์กร
- เพื่อสร้างทัศนคติในการปรับปรุงการทำงานของพนักงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
- เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างการมีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างกระตือรือร้น
หลักสูตร: Coaching for Change
หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับต้น/ระดับกลาง และ Coach
- เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถในการช่วยพนักงานให้สามารถ ปรับตัวเมื่อต้องเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง
- เพื่อเรียนรู้เทคนิค และแนวทางในการช่วยพนักงานให้ยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง
- เพื่อสร้างตัวแทน ประสานงาน และจัดการกับการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)
หลักสูตร: Strategic Change Management
หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง
- เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กร (Change Leader)
- เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ และวางกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อองค์กร
การสร้างภาวะผู้นำ
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “คน” ดังนั้นถ้าจะจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลต้องสร้างภาวะผู้นำ (Leadership) โดยเฉพาะผู้นำที่ได้รับ “การยอมรับและมีประสิทธิผล”
ภาวะผู้นำหรือความสามารถในการนำที่สำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จต้องเริ่มต้นด้วยการ “ได้ใจ” หรือสร้างการยอมรับ นับถือ และศรัทธาในตัวผู้นำ ผู้นำที่จะได้รับการยอมรับต้องมีความโดดเด่น เช่น ด้านประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ หรือคุณวุฒิ วัยวุฒิ ซึ่งพนักงานอาจให้ความสำคัญแตกต่างกันไป บางคนอาจให้ความสำคัญเรื่องประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ในขณะที่บางคนมองเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ เป็นหลัก และที่สำคัญนั้น ผู้นำต้องเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การเป็นผู้ที่มีน้ำใสใจจริง ทุ่มเท และเสียสละ จะสามารถได้ใจพนักงาน สร้างศรัทธา สร้างการยอมรับและนับถืออย่างจริงใจให้เกิดขึ้น
นอกจากนั้นผู้นำต้องสร้างประสิทธิผลด้วยการนำให้ “ได้งาน” โดยการนำเสนอวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจนและจูงใจเพื่อกำหนดทิศทางและวางเป้าหมายสู่อนาคต ผู้นำที่ดีและเก่งจะสร้างมาตรฐานการทำงานที่ดี ผู้นำที่มีคุณภาพย่อมสร้างผลงานและทีมงานที่มีคุณภาพ สามารถจูงใจคนให้ทำงาน แม้ว่าโครงการที่ซับซ้อนยุ่งยากก็สามารถทำได้สำเร็จ ผู้นำจะคิดปรับปรุงแก้ไขการทำงานเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาทีมงาน และพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ ผู้นำที่ได้รับการยอมรับและมีประสิทธิผลจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้จะทำให้องค์กรเข้าสู่การเป็นองค์กรที่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบได้อีกก้าวหนึ่ง
สร้างภาวะผู้นำ ด้วย Coaching System
หลายองค์กรใช้ Coaching System เพื่อสร้างโค๊ชมืออาชีพภายในองค์กร การพัฒนาระบบดังกล่าวถือเป็นการเปิดโอกาสให้โค๊ชได้พัฒนาภาวะผู้นำที่ได้รับ “การยอมรับและมีประสิทธิผล” บางองค์กรอาจเรียกระบบนี้ว่า Coaching System หรือ Buddy System หรือ Pair System หรือระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System)
Coaching System เป็นเทคนิคในการบริหารที่เป็นระบบ เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคนกลุ่มหนึ่งให้ทำหน้าที่โค๊ชให้คำปรึกษาแก่พนักงานเหมือนโค๊ชนักกีฬา การวางระบบและออกแบบโครงสร้าง การคัดเลือกโค๊ช การฝึกอบรม การสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและวัตถุประสงค์ ตลอดจนการสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จและเกิดประสิทธิผลต่อองค์กร
โค๊ชจะทำหน้าที่ดูแลพนักงาน ปรับแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมให้เกิดผลในทางบวกต่อตนเอง ต่องาน ต่อเพื่อนร่วมงาน และเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร เป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มทำงานจนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ให้การสนับสนุน แนะนำแนวทางพัฒนาตนเอง พัฒนาความรู้ ความสามารถ แนะนำและจูงใจให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการฝึกอบรม รวมทั้งสอนงานให้ทำงานได้ถูกต้อง ดังนั้น คนกลุ่มนี้ย่อมเติบโตไปเป็นผู้นำที่ได้รับ “การยอมรับและมีประสิทธิผล” และเมื่อมีการยอมรับ นับถือ และศรัทธาย่อมเกิดทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ผลิตผลงานที่ดี และเกิดความรักและสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดี่ยวกันในองค์กร
นอกจากนี้โค๊ชสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นผู้ถ่ายทอดนโยบายที่พนักงานควรทราบ โค๊ขจะทำหน้าที่ในการสื่อสารสองทางทั้งจากระดับบนลงสู่ระดับล่าง และสื่อสารจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบน ซึ่งก่อให้เกิดเครือข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เมื่อองค์กรนำระบบบริหารสมัยใหม่เช่น Balanced Scorecard หรือ Competency Management หรือ Knowledge Management หรือระบบอื่นๆเข้ามาใช้ก็สามารถเชื่อมโยงใช้กลไกของ Coaching System ให้เกิดประโยชน์ และสามารถปรับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการนำระบบใหม่ๆเข้ามาใช้งานให้เกิดประโยชน์ตามที่องค์กรต้องการได้
การสร้างแรงจูงใจ
องค์กรหลายแห่งพยายามสร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกลุ่มพนักงานและผู้บริหาร แรงจูงใจนี้อาจสร้างขึ้นจากความไม่พึงพอใจต่อสถานะเดิมที่เป็นอยู่ หรือสถานการณ์ที่ได้พบ และปรารถนาถึงสิ่งที่ดีกว่า หรือสภาพการณ์ที่ดีกว่า บางครั้งอาจกระตุ้นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงจากความกังวล ความกลัว ความไม่สะดวกสบายที่อาจจะมีอยู่ในองค์กร หรืออาจเกิดจากวิกฤตการณ์ที่องค์กรนั้นๆต้องเผชิญ
กิจกรรมหรือโครงการต่างๆเพื่อสร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เช่น กิจกรรมด้านคุณภาพและเพิ่มผลผลิต 5ส ไคเซ็น ระบบข้อเสนอแนะ หรือระบบบริหารคุณภาพ QCC หรือการลดต้นทุนด้วยการประหยัด โครงการเงินเก็บตก หรือการปรับปรุงระบบสำนักงาน เช่นลดการใช้กระดาษ ปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสำนักงาน โครงการสำนักงานไร้กระดาษ หรือการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภายในองค์กร (Internal Service Excellence)
ในการสร้างแรงจูงใจต่อเปลี่ยนแปลง โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงานนั้น หลายองค์กรได้นำระบบการให้รางวัลเข้ามาใช้เป็นกลไกหนึ่งเพื่อเพิ่มพลังในการปรับพฤติกรรม และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลายองค์กรให้รางวัลเป็นค่าตอบแทน บางองค์กรให้รางวัลเป็นคะแนนบวกเพิ่มในการประเมินผลงาน หรือรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่นบัตรรับประทานอาหาร บัตรของขวัญ การดูงานทั้งในและต่างประเทศ บางองค์กรกำหนดเป็น KPI มีระบบการประเมินผลงานที่ชัดเจนและถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารผลงานเชิงกลยุทธ์
การออกแบบองค์กร
หลายองค์กรได้ออกแบบองค์กรให้มีลำดับชั้นน้อย แบนราบ (Flat) ไม่สลับซับซ้อน มีการกระจายอำนาจ และมีความยืดหยุ่นสูง (Flexible) เพื่อให้แต่ละหน่วยธุรกิจสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง การจัดองค์กรแบบดังกล่าวจะทำให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจและมองเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร องค์กรแบบนี้จะสามารถสร้างพนักงานที่มีความเป็นผู้ประกอบการ กล้าทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ มีการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการทำงาน (Process) ซึ่งทำให้องค์กรสามารถสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มคนขึ้นเป็นทีมงาน และสามารถสร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
การออกแบบองค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นต้องสร้างแนวทางการทำงานที่มีส่วนร่วมให้มากที่สุด และให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานประจำวัน เช่น
- การบริหารแบบมีส่วนร่วม และสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมระหว่างพนักงานและระหว่างหน่วยงาน
- มีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- มีการสื่อสารสองทาง ทั้งการพูดและการฟัง
- ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลอย่างอิสระ และมีการเรียนรู้ร่วมกัน
- สร้างทัศนคติทางบวกต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการรับรู้ ยอมรับ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และร่วมกันค้นหาว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร (pro-active)
- กำจัดความกลัว เช่นกลัวถูกลงโทษเมื่อผิดพลาด กลัวเสียหน้าและเสียศักดิ์ศรีเมื่อล้มเหลว
- เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ให้อิสระในการคิด ระบุปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข และดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนการชมเชยและให้รางวัล
ในปัจจุบัน หลายองค์กรได้ออกแบบองค์กรให้มีการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือแบบ Matrix organization หรือบริหารงานในลักษณะ Project based เช่นการตั้งทีมงาน หรือคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยพนักงานจากหลายๆหน้าที่ หลายๆหน่วยงาน (cross-functional team) เพื่อจัดการปัญหาที่สำคัญ หรือปรับปรุงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลายๆหน่วยงานหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า หรือการให้บริการลูกค้าเป็นงานโครงการ เป็นต้น
องค์กรที่บริหารงานแบบมีส่วนร่วมหรือบริหารงานในลักษณะ Project based จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่มีทักษะการเป็นที่ปรึกษา (Consulting Skill) และทักษะในการบริหารโครงการ (Project Management Skill) เพื่อให้มีการบริหารดำเนินงานโครงการให้บรรลุตามแผนงานในเวลาที่กำหนด มีการใช้ทรัพยากร คน และงบประมาณอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพ ถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ นอกจากนี้การใช้กิจกรรมหรือเครื่องมือทางการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Activities) ควบคู่กับการบริหารโครงการจะช่วยให้สามารถดำเนินโครงการให้สำเร็จได้อย่างราบรื่น และได้รับการยอมรับจากผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
ไม่ว่าคุณกำลังเดินทางในช่วงวัยไหนของชีวิต เป็นลูก เป็นวัยรุ่นในโรงเรียน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นคนทำงาน เป็นคนรัก เป็นพ่อ แม่ ตอนนี้อายุ 20, 30, 40, 50 หรือ 60 คุณมีแค่ชีวิตเดียว ถ้าอยากรู้ว่าเราใช้ชีวิตแบบรู้เน...
การโค้รายบุคคล การโค้ชกลุ่ม และการโค้ชทีม แตกต่างกันอย่างไร?
ในฐานะโค้ชคนหนึ่ง ได้เห็นว่าเวลาโค้ชคนอื่น มักให้เวลาพาคนลงลึก รอบด้าน ทว่าเวลาทำงานกับตัวเอง ไม่ได้พาลงไปเช่นนั้น แรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร พอ COVID-19 มา ก็มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ถึงกับใช้เวลาเรียนรู้ นั่งทำงานลงลึก ย้อนกลับไปดูชีวิตของตัวเอง ...