Home > Blog > 01 Facilitative Coaching for Team Leader

ความสุขในที่ทำงาน เริ่มต้นอย่างไรดี?

เมื่อวานนี้ วันที่ 9 ม.ค. 2563 ไปรับฟังลูกค้ารายหนึ่งซึ่งต้องการคุยเรื่องการโค้ชเพื่อบริหารการเปลี่ยนแปลง สัมผัสได้ถึงความต้องการสร้างความสุขในที่ทำงาน ความรัก ความสัมพันธ์ และการพูดคุยในองค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำงาน เป้าหมายในเชิงธุรกิจ อยู่รอด อยู่ร่วม เดินทางไปด้วยกันอย่างมีความสุข ได้มีโอกาสใช้โมเดลการเปลี่ยนแปลงในการพูดคุย โมเดลเป็นอย่างไร ขอนำบทความที่เขียนไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ให้วารสาร HR มาแบ่งปันค่ะ

…….

สำหรับองค์กร เป้าหมายของธุรกิจ คือ ลูกค้าที่ซื่อสัตย์ และกำไรสูงสุด แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งในการให้บริการ รักษาลูกค้า และทำกำไร คือ ตัวพนักงาน ดังนั้น สิ่งที่มักพูดถึงกันเสมอในระยะหลังๆ คือ การให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ ความสุขในการทำงานของพนักงาน และยกย่องในปัญญาปฏิบัติที่มีในตัวพนักงาน

หลายองค์กรจึงตั้งเจตนารมณ์ต้องการจะเป็นองค์กรแห่งความสุขในบริบทที่เหมาะสมของตนเอง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มจากตรงไหนดี และมักมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่าความสุขในที่ทำงานสร้างได้จริงหรือ? เป็นอย่างไร? และ เป็นหน้าที่ของใคร? เจ้าของ หรือ ผู้บริหาร หรือ พนักงาน

โค้ชภายนอกอย่างผู้เขียน ซึ่งมีโอกาสเข้าไปรับฟังความรู้สึกและความต้องการของเจ้าของ และผู้บริหารในหลายองค์กร จึงอยากแบ่งปันขั้นตอนเริ่มต้นเพื่อปฏิบัติการตามล่าความสุขในที่ทำงานของผู้เขียน ดังนี้

ตั้งคณะทำงาน (Core Team)

การดำเนินโครงการลักษณะนี้เป็นงานต่อเนื่องระยะยาว ผู้เขียนมักขอองค์กรจัดให้มีคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบดำเนินกิจกรรม เช่น การจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้น การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ที่สำคัญคณะทำงานจะเป็นกลุ่มคนที่รับถ่ายทอดแนวคิด องค์ความรู้ต่างๆในการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันกับผู้เขียนหรือผู้เชี่ยวชาญภายนอก

 

ประเมินองค์กร

เมื่อเจ้าของหรือผู้บริหารต้องการทั้งกำไรและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในองค์กร ก็ถือว่าได้รับไฟเขียวจากข้างบน ผู้เขียนจึงมักประเมินองค์กรเพื่อสำรวจสถานการณ์ มุมมอง สภาพปัจจุบัน หรือความท้าทายที่องค์กรเผชิญอยู่ ในบางครั้ง ผู้เขียนจะใช้แบบสอบถามเพื่อประเมินองค์กรในหัวข้อต่างๆ และสรุปผลเพื่อนำมาวางแผนในรายละเอียด

ผู้เขียนมักถามคำถามเริ่มต้นง่ายๆว่า “ถ้าให้ scale ระหว่าง 1-4 โดย ระดับที่ 4 หมายถึง มีความสุขมากที่สุด และระดับที่ 1 หมายถึง ไม่มีความสุขเลย คุณคิดว่าความสุขในที่ทำงานของคุณ ขณะนี้อยู่ในระดับไหน? และ อะไรคือปัจจัยของความสุขในที่ทำงานสำหรับคุณ?” ผู้เขียนพบว่าคำตอบของแต่ละกลุ่ม ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 2 และระดับ 3 สำหรับปัจจัยของความสุขในที่ทำงานนั้น ส่วนใหญ่จะตอบว่าเกี่ยวข้องกับคน สัมพันธภาพในงาน รวมถึงการมีส่วนร่วม การให้และรับ และโอกาสในการพัฒนาตนเอง ให้เติบโต ก้าวหน้า

 

สร้างการมีส่วนร่วม และวางแผน

ผู้เขียนใช้วิธีจัดกระบวนการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทุกระดับ โดยใช้กระบวนการเพื่อนำพาผู้เข้าร่วมให้สร้างภาพองค์กรแห่งความสุข ความฝัน สิ่งที่มุ่งหวัง และความต้องการในอนาคตร่วมกัน ช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความประทับใจ มีการพูดคุย เปิดใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน เปิดรับข้อมูลสะท้อนกลับ เสียงทุกเสียงได้รับการรับฟัง ได้ยิน มีคุณค่า และมีส่วนร่วม เมื่อเห็นภาพอนาคตชัดเจน เข้าใจสถานภาพและความท้าทายที่องค์กรเผชิญอยู่ในปัจจุบันชัดเจน ก็ถึงเวลาวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างทั้งสองด้าน และเพื่อให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่างานนี้เป็นของทุกคนนำเสนอทางออกที่เหมาะสมและเป็นแบบฉบับขององค์กร และวางแผนการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร

 

ดำเนินงาน

นอกจากคณะทำงานหลัก อาจตั้งทีมงานย่อยหลายๆ ทีมเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนงานที่กำหนด สิ่งสำคัญคือผู้เขียนเชื่อว่าความสุข หรือ ความทุกข์ของคนทำงานนั้น เกี่ยวข้องกับคนและความสัมพันธ์ในงานมากที่สุด จึงต้องสร้างวัฒนธรรมแบบเปิด ที่มีพื้นที่ปลอดภัย มีการพูดคุย มีส่วนร่วมขึ้นในองค์กร

หลายองค์กรเริ่มสร้างความสุขในที่ทำงาน โดยการพัฒนาทักษะในการทำงาน พัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตให้พนักงานมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน บริหารร่างกายให้แข็งแรง บริหารอารมณ์ให้ผ่องใส จิตใจสบาย ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หรือพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงานมากขึ้น

 

ติดตาม รายงานผล ทบทวน และขยายผล

คณะทำงานประเมินผลกิจกรรม ประเมินความสุขของพนักงาน และสร้างความมีส่วนร่วม นำเสนอรายงานต่อฝ่ายบริหารอย่างสม่ำเสมอเพื่อขอรับความคิดเห็น หมั่นทบทวนแผนงาน ปรับปรุงกิจกรรม และขยายผลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

เพียงเริ่มต้นทำ…พนักงานก็มีความสุขในการทำงาน เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เพราะองค์กรให้ความสำคัญต่อพนักงาน ผลดีที่ตามมาคือการส่งมอบบริการที่ดีแก่ลูกค้า

————————–

*เกี่ยวกับผู้เขียน: ทัศนีย์ จารุสมบัติ ปัจจุบันเป็น Facilitative Coach ติดต่อ: couragetocoach@gmail.com

แชร์หน้านี้