Home > Blog > 06 Life Mastery Academy | Self-Leadership

ถนนแห่งความสุขของ Life Coach

ถนนแห่งความสุขของ Life Coach

ชีวิตทุกคนล้วนต้องการก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ฝันไว้ แต่เรามักจะเจอทางแยกหลากหลายเส้นทางจนบางครั้งเดินอ้อมไปไกล หรือหลงทางไปสู่จุดหมายที่ไม่ได้ใฝ่ฝันจนความสุขในชีวิตลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นคนที่ตื่นเช้าไปทำงานด้วยความซังกะตายไปวันๆ เพราะขาดแรงบันดาลใจที่จะก้าวไปสู่ปลายทางที่เคยฝันไว้  

คุณทัศนีย์ จารุสมบัติหรือ โค้ชอ้อม หญิงวัยห้าสิบเก้าปีคนนี้เคยเป็นคนหนึ่งที่เดินวกวนอยู่บนเส้นทางที่ “ไม่ใช่ความสุข” มากว่าครึ่งชีวิต  จนวันหนึ่งตัดสินใจหยุดเดินไปบนถนนสายเดิมด้วยการลาออกจากงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อมาเป็นแม่บ้าน ระหว่างที่ “หยุดพัก” เธอจึงเริ่มมองเห็น “ทางเลือกใหม่” ให้ลองก้าวเดิน จนได้ค้นพบความสุขที่ตามหามาเนิ่นนานด้วยอาชีพ “Life Coach”

คุณทัศนีย์ จารุสมบัติหรือโค้ชอ้อม


โค้ชอ้อมเล่าถึงเหตุผลของการตัดสินใจหยุดเดินบนถนนสายเก่าที่คุ้นชินในวัย 48 ปีทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าถนนสายใหม่อยู่ที่ไหนให้ฟังว่า

 “ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าโลกคอมพิวเตอร์ไม่ใช่โลกของเรา เลยอยากเป็นแม่บ้าน ช่วงออกจากงานหนึ่งถึงสองเดือนแรกก็มีความสุขดีแต่เหมือนคุณค่าบางอย่างหายไป เลยลองค้นหาสิ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็ไปเจอคำว่าโค้ชชิ่ง (Coaching) พออ่านปุ๊บก็รู้สึกเหมือนมีอะไรเรียกร้องเราอยู่ข้างใน เพราะเป็นอาชีพที่เราสามารถทำงานอยู่บ้านและบริหารเวลาของเราได้ รวมทั้งเราได้ช่วยพัฒนาคนอื่นไปพร้อมๆ กัน เลยตัดสินใจลงเรียนออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ International Coach Academy : ICA”

.

หลังเรียนจบคอร์สแรก โค้ชอ้อมจึงก้าวเข้าสู่เส้นทางสายใหม่ของการพัฒนาคนในฐานะ “โค้ช” อาชีพนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีใดๆ ในการทำงาน  ใช้เพียง “หัวใจ” ของโค้ชที่จะช่วยพา “ผู้รับการโค้ช” ออกจากเขาวงกตไปสู่ปลายทางที่ฝันไว้ให้ได้ โดยโค้ชจะทำหน้าที่ชวนคิดชวนคุย ช่วยวาดแผนผังชีวิตจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งและให้ผู้รับการโค้ชค้นหาคำตอบที่เดินไปถึงเป้าหมายด้วยตนเอง

.

นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก้าวเดินบนถนนสายใหม่ โค้ชอ้อมสัมผัสได้ถึงปริมาณความสุขที่เพิ่มแบบเท่าทวีคูณ เพราะการได้เห็นความสำเร็จของผู้รับการโค้ชเป็นพลังแห่งความสุขที่ย้อนกลับมาเติมเต็มหัวใจ “โค้ช” จนเต็มอิ่ม เมื่อรู้ว่าเส้นทางสายนี้มีความสุขรออยู่ตลอดสองข้างทาง เธอจึงไม่ลังเลใจที่จะก้าวต่อไปเพื่อเป็น “Life Coach” ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเธอสมัครเข้าเรียนปริญญาโทด้านจิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนจะได้ทำความเข้าใจตนเองมากขึ้นก่อนจะทำความเข้าใจคนอื่นต่อไป ในช่วงทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาโทนี้เองที่โค้ชอ้อมได้พบกับคนสำคัญบนเส้นทางการโค้ช คือ โค้ชจิมมี่ หรืออาจารย์พจนารถ ซีบังเกิด ซึ่งเป็นเจ้าของสถาบันฝึกอบรมไลฟ์โค้ชแห่งแรกในเมืองไทยชื่อ  Thailand Coaching Academy: TCAและเป็นผู้ชักชวนให้โค้ชอ้อมทำงานที่สถาบันนี้มาตั้งแต่ปี2554จนถึงปัจจุบัน

.

อาชีพ Life Coach ทำให้โค้ชอ้อมมีความสุขมากเป็นสองเท่าเพราะทำให้ตนเองมีความสุขและคนอื่นมีความสุขไปพร้อมกัน

.

โค้ชอ้อมกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของโค้ชคือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงลึก การรับฟังด้วยหัวใจ การใช้คำถามทรงพลัง และการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้รับการโค้ชค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ตัดสินใจ วางแผน ลงมือทำ และก้าวไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

“ในมุมมองส่วนตัว นักจิตวิทยาทำหน้าที่คล้ายๆ กับโค้ช แต่จะทำงานกับคนที่มีอาการทางใจ จิตตก หรืออาจป่วยทางจิตซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้ามาเจอโค้ช เขาอาจไม่พร้อมที่จะตอบคำถามหรือทำงานกับตัวเอง เพราะโค้ชต้องให้ผู้รับการโค้ชตอบคำถามด้วยตนเอง ความแตกต่างของทักษะนักจิตวิทยา คือ “heal and help” (เยียวยาและช่วยเหลือ)แต่ทักษะของโค้ชคือ “Inspire and serve” (สร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุน) จนกว่าคนนั้นจะค้นพบคำตอบแล้วเดินไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นมุมมองของพวกเราคือ จากจุด A ไป B หรือมองไปข้างหน้า แต่นักจิตวิทยาเค้าอาจเริ่มจากจุดติดลบ A คือ ย้อนไปทำงานกับปมปัญหาในอดีตเพื่อให้เดินมาถึงปัจจุบัน และใช้ชีวิตต่อไปได้”

.

ด้วยเหตุนี้ หลังจากได้รับการโค้ช หลายคนจึงมีมุมมองชีวิตแตกต่างไปจากเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือโลกทัศน์ในการมองคน มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารที่อยากประสบความสำเร็จ เราต้องสอนให้สร้างความสัมพันธ์ก่อน หรือสอนให้ตั้งคำถามกับลูกน้อง พอฟังได้ดีเราก็ถามคำถามให้ลูกน้องเกิดการเรียนรู้แล้วดึงศักยภาพขึ้นมา แล้วค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง การโค้ชชิ่งจะทำให้ผู้บริหารมองโลกเปลี่ยนไปและประสบความสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆ มากขึ้น

.

บนเส้นทางของการโค้ช ผู้รับการโค้ชไม่ได้เป็นแค่ “ผู้รับ” แต่ยังเป็น “ผู้ให้” บทเรียนต่างๆ กับโค้ชได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ โค้ชอ้อมจึงไม่ได้รู้สึกว่าการทำหน้าที่โค้ชเป็น การทำงานหากเป็น “วิถีชิวิต” มากกว่า

“สิ่งที่เราได้รับคือการเติบโตไปพร้อมๆ กับการโค้ชคน เราได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองและก้าวข้ามความกลัว  ก่อนหน้านั้นเราก็เหมือนผู้บริหารทั่วไป คือห่างจากครอบครัว ไม่ได้ดูแลตัวเอง แต่สิบปีมานี้  เราหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น รู้ว่าชีวิตด้านในที่เราต้องให้ความสำคัญจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่เราได้รับจากการทำงานโค้ช คือ ความสุขในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะไปช่วยใคร เราก็ต้องตั้งต้นที่หันกลับมามองตัวเราเองก่อน ถ้าเราไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว เราจะเอาความสุขที่ไหนไปมอบให้คนอื่น”

.

เมื่อตนเองมีความสุข การส่งต่อความสุขให้คนอื่นจึงเกิดขึ้นตามมา ชีวิตของโค้ชอ้อมจึงรายล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความสุขในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอนได้เป็นโค้ชสอน “ว่าที่โค้ช” ด้วยแล้ว เธอยิ่งสัมผัสได้ถึงการ “ส่งต่อ” ความสุขไปยังผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน  เพราะได้ทำหน้าที่เป็น ลมใต้ปีกความฝันให้คนอื่นโบยบินไปยังจุดหมายที่ต้องการ

“สิ่งที่เรามี คือ เครื่องมือที่สร้างความสุขและความสำเร็จให้ตัวเอง ด้วยเครื่องมือนี้เราสามารถสร้างวิถีชีวิตที่ใช่ในแบบตัวเอง และถ้าเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นเราก็ส่งมอบเครื่องมือให้เขาไปออกแบบชีวิตเขา ฉะนั้นความสุขก็คือการส่งมอบเครื่องมือให้เขาไปสร้างความสุขความสำเร็จในแบบของเขา แต่ที่สำคัญคือเครื่องมือนี้พอเขาเอาไปแล้ว เขาก็เอาไปช่วยเหลือคนอื่นด้วย การโค้ชมันก็เหมือนการโยนก้อนหินลงน้ำแล้วก็กระเพื่อมต่อไป โค้ชหนึ่งคนที่ออกไปจากเรา เขาช่วยคนได้อีกเยอะแยะมากมาย เราเป็นลมใต้ปีกของคนให้เขามีความสุขมีความสำเร็จ การโค้ชมันเหมือนคนเกิดใหม่หรือได้แว่นตาอันใหม่ โลกเขาสดใสขึ้น ถ้าเป็นในองค์กรเหมือนเราได้ส่งพ่อแม่กลับสู่ครอบครัวเขา แล้วก็ส่งนายที่ดีกลับสู่ลูกน้องเขา เนี่ยความสุขของการทำงานของเราก็คงจะอยู่ตรงนั้น”

.

เมื่อย้อนกลับมามองความเปลี่ยนแปลงในตนเองตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาของการทำหน้าที่โค้ช  โค้ชอ้อมบอกว่า หลังจากได้ “ปลดล็อค” ความทุกข์เรื่อง “เชื่อว่า” แม่ไม่รักออกไปได้ ชีวิตก็เบาสบายพร้อมจะโบยบินสูงขึ้นฟ้าโดยปราศจากปมใดๆ เหนี่ยวรั้งไว้

“ตลอดเวลาเกือบห้าสิบปีที่เรารู้สึกน้อยใจแม่ เพราะเชื่อว่าแม่ไม่รักเรา เคยเผชิญช่วงชีวิตที่จะฆ่าตัวตายมาแล้ว พอเราเริ่มต้นเรียนโค้ชชิ่ง เราก็จะได้รับการโค้ชก่อน ซึ่งทำให้ค้นพบว่า การที่เราน้อยใจโชคชะตา เพราะเราอาจไม่ได้มองมุมอื่น พอเราถูกท้าทายให้กลับไปกราบแม่ เราก็เหมือนได้แม่คืน หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าใจตนเองมากขึ้นว่า เหตุผลที่เราทำงานหนักและอารมณ์ร้ายเพราะว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  พอปลดล็อคเรื่องแม่ได้ก็รู้สึกนิ่งขึ้น และยอมรับพ่อได้มากขึ้นด้วย เหมือนเราได้พ่อแม่กลับคืนมาในชีวิตอีกครั้ง”

.

ปัจจุบันโค้ชอ้อมทำงานในฐานะ Faculty ของ Thailand Coaching Academy (TCA) และเป็น Founder & Executive Coach ที่ Courage to Coach รายได้หลักที่หล่อเลี้ยงร่างกายมาจากการทำหน้าที่เป็นครูสอนโค้ช และการโค้ชคนอื่น ส่วนสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือ การได้แบ่งเวลาไปทำงาน “โค้ชจิตอาสา” ปีละอย่างน้อย 30 วันให้กับหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์  เพราะความสุขจากการ​​ได้ช่วยเติมเต็มหัวใจความเป็นมนุษย์ทำให้หัวใจของเธออิ่มเอมมากยิ่งขึ้น

บนเส้นทางการช่วยคนอื่น เราต้องช่วยตัวเราก่อน  เราจะได้มีพลังส่งกำลังใจไปให้เขาได้ บนเส้นทางสายนี้เรามีครูเยอะมาก สิ่งที่เราได้จากครูก็คือการส่งมอบความสุขให้คนอื่นต่อไป นี่คือความสุขของ Life Coach

.

หากเปรียบชีวิตของคนทุกคนคือถนน ถนนชีวิตของบางคนอาจตรงดิ่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ฝันไว้โดยปราศจากหลุมบ่อใดๆ แต่ถนนชีวิตของบางคนอาจวกวนไปมาเหมือนอยู่ในเขาวงกตที่ไม่รู้ปลายทางแห่งความสำเร็จในชีวิตอยู่ตรงไหน หากใครกำลังรู้สึก “หลงทาง” ให้ลอง “หยุดก้าวเดินสักพัก” เพราะถ้าเดินต่อไปก็อาจเหนื่อยจนหมดแรงก่อนจะเจอทางออกที่ต้องการ แต่หากลองหยุดเดิน คุณอาจมองเห็น “ทางแยก” อีกมากมายให้คุณเลือกเดินบนถนนสายใหม่ที่ “ใช่คำตอบ” ที่คุณตามหามานาน เช่นเดียวกับถนนสายความสุขของโค้ชอ้อม Life Coach คนนี้

.

ขอบคุณภาพจากโค้ชอ้อมมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

.

เครดิตบทความจากเพจ ความสุขประเทศไทย

8 เส้นทางของความสุข

แชร์หน้านี้