ทักษะการโค้ช (Coaching Skills)

การโค้ช (Coaching) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของหัวหน้างานและผู้นำที่เชื่อว่า “คนมีศักยภาพมากกว่าที่เราเห็น” จึงใช้การโค้ชเพื่อชี้ให้คนเห็นศักยภาพของตนเองและนำออกมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายขององค์กร ผู้บริหารในสไตล์ “โค้ช” จึงเป็นอีกบทบาทที่สำคัญในการบริหารคน (People Development) และบริหารงาน (Performance Management)

 

“การโค้ช (Coaching)” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ช (Coach) และผู้ได้รับการโค้ช (Coachee) เพื่อกระตุ้น และจุดประกายความคิด ด้วยกระบวนการที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ได้รับการโค้ช เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะนำเอาศักยภาพและความสามารถที่ถูกบดบังหรือซ่อนอยู่ ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (International Coach Federation: ICF)

.

ทักษะการโค้ช (Coaching Skills) ที่สำคัญ 3 เรื่อง 

 

1. ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Rapport Building in Coaching) 

ในการโค้ช เราสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนสองคนเกิดความไว้วางใจกัน เกิดความเชื่อใจ เชื่อมั่น พร้อมเปิดใจพูดคุย พร้อมให้ความร่วมมือในการโค้ช ชวนคิด ชวนพูดคุย ค้นพบที่มาของเรื่องราว อุปสรรค ความท้าทาย ค้นพบตำตอบ ทางเลือก ค้นหาทางออก บรรลุเป้าหมายในการโค้ช ซึ่งมีเทคนิคและโมเดลมากมาย เช่น การปรับภาษาท่าทาง เลือกคำพูด เรื่องราว ปรับโทนเสียง การฟังด้วยความใส่ใจ หรือ VAK Ad Model การใช้คำถาม หรือเทคนิค Matching & Mirroring และ Pace-Pace-Lead เป็นต้น

 

ในที่ทำงาน แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันทั้งสไตล์ พฤติกรรม ความคิด ความต้องการ ความเชื่อ มุมมอง และวัย หรือ Generation ที่ทำง่นอาจมีทั้ง Baby Boomer, Gen X , Gen Y and Gen Z  เมื่อมาทำงานร่วมกันอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์จะช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน เข้าใจกันมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล เปิดใจ ศรัทธา และไว้วางใจ เพื่อให้การโค้ช การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น

 

2. ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening in Coaching)

การฟัง ถือเป็นทักษะการสื่อสาร (Communication skill) ที่สำคัญอีกเรื่อง การฟังแบบโค้ช เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง เพราะในกระบวนการโค้ชนั้น โค้ชจะใช้เวลาในการฟัง 70-80% อีก 20-30% สำหรับการทวนสิ่งที่ได้ยิน การถาม การสะท้อน (Feedback) โค้ชจะฟังในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชพูด เป็นเรื่องราวหรือเนื้อหา (Content) นอกจากนี้ โค้ชจะฟังให้รับรู้ถึงความรู้สึก สังเกตโทนเสียง ภาษาท่าทาง สีหน้าที่แสดงออกมา รับรู้ถึงความเชื่อ ความคิด มุมมอง ความต้องการ ความกลัว และคุณสมบัติ หรือศักยภาพภายในตัวคน (Context) โค้ชจึงสามารถทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้ผู้รับการโค้ชเข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้ง

 

หากจะฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งให้ดีนั้น ต้องฝึกสติ (Mindfulness) ควบคู่ไปด้วย เพื่อดำรงตนอยู่กับผู้รับการโค้ชในทุกขณะ (Be There)  การฝึกฝนตนเองให้มีสติต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันตัวเอง ทันว่าในระหว่างการโค้ช เราเผลอเข้าไปอยู่กับเรื่องราวของโค้ชชี่จนมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วย บางทีก็เผลอคิดหาคำตอบแทน บางทีก็เผลอคิดล่วงหน้าว่าจะถามอะไรต่อไปดี ทำให้พลาดการฟังสิ่งสำคัญ หรือบางประเด็น เพราะใจเราไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ

 

 

3. ทักษะการถาม (Questioning in Coaching)

เมื่อโค้ชใช้ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ได้ดี มีการฟังอย่างลึกซึ้ง เครื่องมือชิ้นที่ 3 คือ ทักษะการถาม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด ทบทวน ใคร่ครวญ ค้นหาคำตอบ วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้น คำถามที่ดีจึงเป็นคำถามปลายเปิด (Open Questions) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชรับเอาไปตรึกตรอง ชวนคิด ชวนคุย ชวนหาความกระจ่าง หาคำตอบ แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างคำถามปลายเปิด

คำถามกระตุ้นความคิด/ขยายขอบเขตความคิด

  • หากคุณเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เราจะกำหนดอย่างไร?
  • มีอะไรอีกที่คุณยังไม่เคยทำ หรือเคยแต่คิดไว้ในใจ?

คำถามสำรวจความคิด

  • คิดอย่างไรเกี่ยวกับ….
  • อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ถ้า…
  • คุณอยากให้มันเป็นอย่างไร?
  • หากคุณเปลี่ยนแปลง คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น?
  • แล้วถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว มันจะเป็นอย่างไร?

 

ในการโค้ช ยังมีทักษะอื่นๆ อีกหลายทักษะ เช่น การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา (Direct Communication) การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) การให้เสียงสะท้อน (Feedback) การเล่าเรื่อง (Story Telling) การสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เป็นต้น

 

ทักษะการโค้ชนอกจากใช้ในการโค้ชแบบรายบุคคล หรือโค้ชทีม ยังถือว่าเป็น People Skills หรือ Soft Skills สำคัญที่หัวหน้าและผู้นำสามารถใช้ในการทำงานประจำวัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ใช้ในการสื่อสาร พูดคุย ประชุม ติดตามงาน ช่วยลดช่องว่างระหว่าง Generation ช่วยชี้ให้คนเห็นศักยภาพของตน กล้าทำสิ่งใหม่ๆ กล้าออกจาก Comfort Zone ตั้งใจเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ทักษะการโค้ชช่วยให้เข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างคน ช่วยสร้างความไว้วางใจ ความศรัทธา สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการพูดคุย เปิดใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทีม การสร้างความสัมพันธ์ การฟังอย่างลึกซึ้ง และการถามยังช่วยให้เกิดความคิดร่วม หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เกิดการทำงานเป็นทีม เกิดประสิทธิผลต่องาน ส่งผลดีต่อองค์กร

———————————–

เกี่ยวกับผู้เขียน: อ้อม ทัศนีย์ จารุสมบัติ, PCC

ปัจจุบันเป็น Executive Coach, Facilitative Coach สนับสนุนผู้นำให้ใช้ People Skills หรือ Soft Skills เช่น Coaching, Facilitation, Conversation, Dialogue, Feedback, Recognition สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการอยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย

ติดต่อ:

Website: www.couragetocoach.net

Facebook: Tasanee Jarusombuti

LinkedIn: Tasanee Jarusombuti

Facebook Page: Courage to Coach

Official Line @couragetocoach

Email: couragetocoach@gmail.com

Tel: 086-165-6993

 

แชร์หน้านี้