Home > Blog > 05 Coaching Profession | Coaching Business, 06 Life Mastery Academy | Self-Leadership

ชีวิตที่‘ใช่’ โค้ชอ้อม-ทัศนีย์

เมื่อเป็นโค้ชแล้วก็ต้องเต็มที่กับงานที่ทำ และนี่คือเรื่องราวของเธอ

.
“หน้าที่ของเราคือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนมาหาคำตอบด้วยตัวเอง สิ่งที่เราพยายามทำคือ สอนให้คนที่มาเรียนโค้ช โค้ชเป็น และเติบโตด้วยตัวเอง พร้อมๆกับการโค้ช” โค้ชอ้อม-ทัศนีย์ จารุสมบัติ Executive Coach & Facilitator และกรรมการบริหาร Jimi the Coach Group กล่าวในยุคสมัยที่ใครๆ ก็เรียกตัวเองว่า โค้ช

.
เธอเองอยู่ในอาชีพโค้ช ตั้งแต่ยุคแรกๆ และเดินบนเส้นทางนี้เกือบ 10 ปี
“เคยเจอกรณีคนอยากฆ่าตัวตาย เราก็เข้าใจ เพราะเราก็ผ่านการคิดฆ่าตัวตายมาก่อน เวลาที่เราโค้ชคนอื่น บางทีไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น เราต้องพาย้อนกลับไปสำรวจชีวิตในอดีต และเมื่อโค้ชไปแล้ว ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง” โค้ชอ้อมเล่า

.

ทัศนีย์ไม่ได้กระโจนเข้าสู่อาชีพนี้ในทันทีทันใด ก่อนหน้านี้ เธอทำงานพัฒนาองค์กร และบริหารโครงการรวมๆ 25 ปี และในช่วงเวลานั้นเคยทำงานเครือบริษัทซีพี 15 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็น PeopleSoft Principal และ Change Mangement Consultant
.

เธอตัดสินลาออกจากงานประจำตอนอายุ 48 และคิดว่าจะมาเป็นแม่บ้าน แต่ในที่สุดผู้หญิงทำงานอย่างเธอก็ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้
“ตอนที่ลาออกจากงานก็ไปปฎิบัติธรรม จากนั้นไปช่วยแฟนที่เป็นสัตว์แพทย์ทำงานที่คลีนิค แต่เราเอาระบบใหญ่มาทำกับงานเล็กๆ ทำให้วุ่นวาย ก็เลยถอยตัวออกมาเรียนโค้ชชิ่งทางออนไลน์ ตอนนั้นฝรั่งสอน จนได้ทำงานกับเพื่อนฝรั่งเศสที่อยู่เมืองไทย แต่รู้สึกว่า ช่วยคนได้ผิวเผิน”

.
ช่วงจังหวะนั้นเธอจึงไปเรียนปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทำงานโค้ชไปด้วย
“ตอนออกจากงาน รู้สึกว่าคุณค่าผู้หญิงทำงานหายไป ก็ไปเรียนจิตตปัญญา ได้เรียนรู้วิชาศิลปะการจัดกระบวนการ ,เรียนรู้ด้านใน เปิดพื้นที่พูดคุยกัน เราเติบโตจากการเรียนจิตปัญญา ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ตอนนั้นทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ปอกลอกชีวิตตัวเอง ทำให้รู้ว่าทำไมเรามีระบบคิดแบบนี้ เราเป็นคนขี้งอน ชอบคิดโครงการและความสำเร็จ“

.

เมื่อตั้งโจทย์ที่ตัวเอง จึงค้นพบเงื่อนปมในใจตัวเอง เธอบอกว่า คนเราถ้าจะประสบความสำเร็จและมีความสุขด้วยก็ทำได้
“เราทำงานโค้ช พอได้ช่วยคน ทำสำเร็จก็อิ่มเอมใจ ” นั่นคือผลที่เธอสรุปให้ฟัง ส่วนเส้นทางระหว่างนั้น เธอเล่าว่า ตอนแรกๆ ที่เรียนโค้ช ก็ได้เรียนทักษะวิธีการต่างๆ แต่ไม่ได้ลงลึกกับตัวเอง จึงช่วยคนไม่ได้ลึกมาก เราก็พยายามศึกษาหาความรู้มากขึ้น

.
“ตอนเรียนจิตตปัญญา ได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่า ทำไมเราชอบคิดโครงการต่างๆ เราเป็นคนอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ถ้ามองตามศาสตร์นพลักษณ์ เราจะเป็นคนลักษณ์ 7 ชอบความหลากหลาย ชอบคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดโครงการใหม่ๆ ”

.

.

เมื่อย้อนถามว่า ทำไมตอนที่เรียนโค้ชกับฝรั่งไม่ประสบความสำเร็จ โค้ชอ้อม วิเคราะห์ตัวเองว่า เพราะเราไม่ได้มีพื้นที่ในการกลับมาทำงานด้านในกับตัวเอง ยกตัวอย่างเรื่องครอบครัว
“เราเป็นผู้หญิงทำงาน เวลาทำงานก็จะดุ ทำให้มีช่องว่างระหว่างเรากับลูก ตอนนั้นทำงานดึกเป็นที่ปรึกษา เมื่อกลับบ้านดึกก็ไม่ดูแลตัวเองและขี้น้อยใจ พอมาทำงานเป็นไลฟ์โค้ชปีที่ 8 ได้โค้ชทุกรูปแบบ ก็เข้าใจตัวเองมากขึ้น และเข้าใจคนอื่นด้วย ทำให้เรารู้ว่า ถ้าจะอยู่อย่างมีความสุขกับครอบครัว บางเรื่องต้องปล่อยบ้าง และเริ่มเข้าใจท่าทีของแฟนและลูกมากขึ้น มีบางครั้งเราคุยกันไม่เข้าใจ เพราะ แฟนชอบพูดเสียงดัง ตอนเด็กๆ แม่เราจะเสียงดัง เราก็รู้สึกว่าแม่ไม่รัก เลยไม่ชอบ และเมื่อโตขึ้น ใครเสียงดังกับเรา เราก็จะรู้สึกว่า ไม่รักเรา เมื่อเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราก็ได้ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้น และได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองด้วย”

.
และเมื่อย้อนถามถึง ครั้งหนึ่งในชีวิตที่คิดฆ่าตัวตาย เธอ บอกว่า ตอนที่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ใครว่าอะไร ก็จะเก็บมาคิด น้อยใจมากๆ ก็กินยานอนหลับ พอกินเยอะไปก็ต้องไปล้างท้อง

.

นั่นเป็นเรื่องราวในอดีตของโค้ชอ้อม ซึ่งไม่ต่างจากหลายคนบนโลกนี้ แต่อยู่ที่ว่าจะปลดล็อคปมในใจของตัวเองได้แค่ไหน

“ทุกครั้งที่สอนเรื่องการโค้ช ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในห้อง คนที่เข้ามาก็รู้สึกว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนและมาเรียนแล้วได้มุมมองใหม่ๆ ก็กลับไปคืนดีกับพ่อแม่ หรือโค้ชให้ผู้บริหาร ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง“ เธอ เล่าถึงคอร์สการสอนนักเรียนโค้ชที่ Thailand Coaching Academy และการโค้ชให้ผู้บริหาร
.

เธอบอกว่า การเป็นโค้ช ทำให้ได้ทำงาน ได้เงินและได้บุญ ได้คืนพ่อให้ครอบครัว คืนผู้บริหารให้องค์กร ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น สิ่งที่เราทำก็คือ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้พวกเขา
“ถ้าเมื่อใดพวกเขารู้สึกปลอดภัย ก็จะเข้ามาทำงานกับตัวเอง อย่างโค้ชผู้บริหารหกครั้งก็เกิดการเปลี่ยนแปลง มีผู้บริหารท่านหนึ่งตัดสินใจจะลาออกจากงานในบริษัทฝรั่ง เพราะเข้ากับเจ้านายฝรั่งไม่ได้ เขาคิดว่า เจ้านายไม่ชอบเขา ดูถูกเขา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจ จนเกิดการทะเลาะกันรุนแรง บริษัทก็เลยหาโค้ชให้ เพราะไม่อยากเสียผู้บริหารมือดีที่คุมโรงงานมายี่สิบกว่าปี”

.

โค้ชอ้อม เล่าต่อว่า เธอพาผู้บริหารคนนั้นย้อนกลับไปวัยเด็ก เพื่อดูว่า เหตุใดเขาคิดว่า เจ้านายดูถูกเขา
“คุณพ่อของเขาเคยทำกิริยาแบบนี้กับเขา เขาก็เลยให้ความหมายว่าใครทำแบบนี้คือการไม่ยอมรับ เราก็โค้ชจนเขาเข้าใจว่า ทำไมเขาเข้ากับเจ้านายคนนี้ไม่ได้ เขาก็ได้รู้ว่า เขาต้องแก้ที่ตัวเอง แก้ทั้งภาษาท่าทาง คำพูดและกิริยา เขาก็หันมารักและเมตตาตัวเองและคนอื่นมากขึ้น”
.

เพราะผ่านชั่วโมงบินในการเป็นโค้ชมาหลายปี เมื่อตกผนึกแล้ว เธอก็ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองต่อยอดทำคอร์สใหม่ๆ ในปีนี้ เพราะคนเป็นโค้ชก็ต้องพัฒนาตัวเองและเติบโต
“เราเอง ก็เข้าคอร์สมาไม่ต่ำกว่าห้าสิบกว่าคอร์ส เรียนเพื่อให้เข้าใจตัวตนมากขึ้น ศาสตร์นพลักษณ์ การสื่อสารอย่างสันติ ฯลฯ ก็เรียนมาแล้ว สิ่งที่เราพยายามทำคือ อยากสอนแล้วให้คนโค้ชเป็น ”โค้ชอ้อม เล่า

.

ส่วนในปีพ.ศ.2561 หากใครอยากเริ่มต้นใหม่ เธอแนะว่า ให้ลองทบทวนดูว่า ปีที่ผ่านมา เรื่องอะไรที่เราชอบ ไม่ชอบ เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องที่เราชี่นชม และเรื่องใดที่เราอยากปรับปรุงตัวเอง เพราะชีวิตเรามีหลายส่วน ทั้งเรื่องงาน สุขภาพ ครอบครัว แล้วตั้งเป้าว่า ในปีนี้อยากทำอะไรเพิ่มเติมในชีวิต
.

โค้ชอ้อม ยกตัวอย่างสิ่งที่เธออยากทำในปีนี้ โดยตั้งธงไว้ว่า จะมีชีวิตที่ใช่ในแบบของตัวเองมากขึ้น จะพยายามดูแลสุขภาพ ให้เวลากับครอบครัวและงาน โดยบริหารเวลาให้เหมาะสม
“ชีวิตมนุษย์ก็มีงาน เงิน การเติบโต ความสัมพันธ์ การพักผ่อน ถ้าเราดูแลอย่างทั่วถึง ก็จะเป็นชีวิตที่ใช่สำหรับเรา คาดหวังไว้ว่า จะมีชีวิตหลังอายุ 60 ที่มีความสุข”

—————
ขอบคุณ Thailand Coaching Academy
Ref: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Website: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/788047

แชร์หน้านี้