Home > Blog > 06 Life Mastery Academy | Self-Leadership

นำวิชา “โค้ช” สู่ระบบการศึกษา

ก่อนที่จะเข้าสู่วัยทำงาน เชื่อว่า ทุกคนต้องมีครูที่อบรม สั่งสอนเรา พวกเขาเป็นเสมือน”โค้ช” ที่คอยชี้แนะเรามาโดยตลอด แต่เราเคยลองนึกย้อนกลับไปไหมว่า ครูของเรา ท่านมีครู หรือมี “โค้ช” อยู่เบื้องหลัง เพื่อคอยชี้แนะพวกเขาเหมือนอย่างที่ครูได้ ชี้แนะเราบ้างหรือไม่

แล้ว “โค้ช”ให้ครูต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ครูสอนคนอื่นต่ออย่างมีความสุข

เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยแลนด์ โค้ชชิ่ง อะคาดามี่ หรือ TCA (Thailand Coaching Academy)สถาบันฝึกทักษะการเป็นโค้ช ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach Group) ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมแนะแนวการใช้ทักษะ “ไลฟ์โค้ช” ให้กับกลุ่มศึกษานิเทศก์ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3 โดยได้ รับเกียรติจาก ดิเรก ต่ายเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3 และกลุ่มศึกษานิเทศก์มาร่วมกิจกรรม เพื่อให้กลุ่มศึกษานิเทศก์ได้นำทักษะของไลฟ์โค้ชไปถ่ายทอดถึงครูผู้สอนและเยาวชน


สำหรับการนำศึกษานิเทศก์มาร่วมกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ ดิเรก อธิบายถึงจุดเริ่มต้นและที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า  “บังเอิญว่าผมกำลังมองหาวิธีการพัฒนาให้ศึกษานิเทศก์ได้มีความรู้มากขึ้น ผมมีโอกาสเรียนรู้ไลฟ์โค้ชมาบ้าง ผมมองว่า เป็นวิธีการที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจ ผู้ที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น ช่วยเสริมสร้างคุณภาพการทำงาน การให้คำปรึกษาครู หากศึกษานิเทศก์มีทักษะไลฟ์โค้ช ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ ” ด้านโค้ชอ้อม-ทัศนีย์ จารุสมบัติจากไทยแลนด์ โค้ชชิ่ง อะคาดามี่ ผู้ริเริ่มการจัดกิจกรรม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการนำทักษะไลฟ์โค้ช เข้าไปทำความรู้จักกับศึกษานิเทศก์ไว้ว่า

“อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า “ไลฟ์โค้ช” คือ การทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชและผู้ที่ได้รับการโค้ช เพื่อให้ผู้ที่รับการโค้ช สามารถที่จะเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง นำเอาศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ออกมาใช้ พาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีความสุข”

อย่างไรก็ตาม โค้ชจิมมี่-พจนารถ ซีบังเกิด ผู้ก่อตั้ง Jimi The Coach Group  มีความตั้งใจว่า จะถ่ายทอดความรู้ให้คนในสถาบันการศึกษา นำความรู้เข้าถึงองค์กรนี้ให้มากที่สุด

“เพราะเรามองว่า หากไลฟ์โค้ชเข้าถึงคุณครู ถึงเด็กๆ และเยาวชน ก็จะเป็นฟันเฟืองช่วยพัฒนาระบบ การศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าครูมีความสุข มีความเข้าใจ และมี Mindset ที่ดี เขาก็จะสร้างเยาวชนที่ดี” โค้ช อ้อม กล่าว และแนะนำเคล็ดลับในการนำเทคนิคไลฟ์โค้ชถ่ายทอดให้กับศึกษานิเทศก์และคุณครูทุกท่านสามารถนำไปใช้ได้ ด้วยเทคนิค 2 ประการ ดังนี้

1. โค้ชที่ดีจะต้องมี Mindset ที่ดีก่อน จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งวิธีสร้างความเข้าใจตัวเองจะประกอบด้วย 1. Being คือการรู้จักและเข้าใจสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเอง2. Believe คือการทำความเข้าใจความเชื่อที่ยึดมั่นมาโดยตลอด 3. Six core needs คือการเข้าใจความต้องการที่มีอยู่ในตัว และ 4. Universal Fearคือการเข้าใจว่าตอนนี้ ตัวเองมีความกลัวอะไรที่อยู่ในตัวบ้าง ซึ่งคำถามทั้ง 4 ข้อนี้จะนำไปสู่การเข้าใจตัวเอง และสามารถที่จะปรับ Mindset ของเราให้ดีขึ้นได้

 

2. มี Coaching skill สำหรับเทคนิคการโค้ชที่จำเป็นสำหรับศึกษานิเทศก์จะประกอบด้วย

สร้างความสัมพันธ์เชิงลึก

เป็นวิธีที่จะสร้างความไว้ใจให้กับคู่สนทนา ลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่า ศึกษานิเทศก์จะเข้าไปคุยกับผู้บริหารสถานศึกษาหรือครูที่กำลังมีปัญหาหนักใจอยู่ จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ตรงหน้าเชื่อใจและยอมเล่าปัญหาให้ฟังได้ ทักษะนี้จึงจำเป็นมากต่อศึกษานิเทศก์

ฟังในสิ่งที่ไม่ได้พูด

ในบางครั้งคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เขาอาจไม่ได้เล่าทุกอย่างให้ เราฟัง การตั้งใจฟังและอยู่กับคนตรงหน้าโดยปราศจากอคติและความคิดของตัวเราจะช่วยให้เราได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้สื่อสารออกมาตรงๆ ได้

ถามให้ถูกจุด

ไลฟ์โค้ชไม่ใช่เทคนิคที่เราจะเข้าไปเปลี่ยนให้คนๆ หนึ่งต้องกลายมาเป็นแบบที่เราคิดว่าดี แต่เป็นเทคนิคที่เราจะทำให้คนตรงหน้าเข้าใจตัวเองและหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเราได้ก็คือการถาม ถามเพื่อให้เขาสามารถที่จะหาคำตอบจากการกระทำ ของเขา เพื่อให้เขาเข้าใจตัวเองได้ในท้าย ที่สุด

 

นอกจากนี้โค้ชอ้อม บอกว่า พวกเรา มองว่า ถ้าศึกษานิเทศก์เข้าใจตัวเอง แล้วสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุข ครอบครัวก็มีความสุข และจะมีทักษะการใช้ชีวิต

“พวกเขาก็จะสามารถนำทักษะโค้ชเอาไปโค้ชตัวเอง โค้ชลูก แล้วก็ เอาไปโค้ชคุณครูที่ดูแลอยู่ แล้วคุณครูที่ได้รับการโค้ช ก็จะนำไปใช้กับนักเรียนและลูกศิษย์อย่างเข้าใจ ครอบครัวของทุกคนก็จะมีความสุข”

 

ขอบคุณ Thailand Coaching Academy

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

แชร์หน้านี้